สำหรับในประเทศไทย ซึ่งมีประวัติการใช้วิชาโหราศาสตร์มาอย่างยาวนาน จนพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบของ “โหราศาสตร์ไทย” อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติเลยทีเดียว คนไทยโดยส่วนใหญ่จึงคุ้นชินกับระบบของโหราศาสตร์ไทยเสียมากกว่า หากเมื่อต้องกล่าวถึง โหราศาสตร์สากล (Classical Astrology) และ โหราศาสตร์ยูเรเนียน (Uranian Astrology) คนไทยจึงมีมุมมองไปในทางที่ว่า “คล้าย ๆ กันไปหมด” ซึ่งในบทความนี้ จะนำพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับบางแง่มุมของโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยเฉพาะ 10 เรื่อง ที่คน(ไทย) มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับโหราศาสตร์ยูเรเนียน ส่วนจะมีเรื่องไหนบ้าง เชิญทรรศนากันได้เลย

1 ยูเรเนียน กับ โหราศาสตร์สากล ?

หากถามว่า ยูเรเนียน คือ โหราศาสตร์สากล ใช่หรือไม่ ? คำตอบก็คงเป็นทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” ในเวลาเดียวกัน

จริง ๆ แล้ว วิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียน ก็มีรากฐานมาจากวิชาโหราศาสตร์สากลนั่นแหละ ซึ่งถูกคิดค้นโดย ปรมาจารย์ทางโหราศาสตร์ นามว่า อัลเฟรด วิตเตอร์ (Alfred Witte) ซึ่งพัฒนาแนวทางจากโหราศาสตร์สากลดั้งเดิมที่ขณะนั้น มีวิธีการที่ซับซ้อนและแยกย่อยมากเกินความจำเป็น ให้มีกรรมวิธีในการหาคำตอบที่ ชัดเจน ตรงประเด็น และ ไม่เยิ่นเย้อ โดยการตัดบางเทคนิกที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือไว้แต่แก่นที่เป็นหัวใจหลัก ๆ ของโหราศาสตร์สากลดั้งเดิม (จริง ๆ สภาพของแวดวงโหราศาสตร์ในยุโรปขณะนั้น ก็คล้าย ๆ กับโหราศาสตร์ไทยในตอนนี้ ที่มีแนวทางของหลายสำนัก หลายอาจารย์ จนบางครั้งขัดแย้งกัน)alfred-witte-90ccfc25-d683-44e7-95dc-bd062afdbef-resize-750

นอกจากนี้ ท่านอัลเฟรด วิตเตอร์ ยังได้คิดค้นเทคนิกเฉพาะตัวคือ “พระเคราะห์สนธิ” (Planetary Pictures) โดยอาศัยความรู้เชิงมุมทางคณิตศาสตร์ เทียบกับวงกลมของเส้นระวิมรรค (วงกลมจักรราศีที่เราใช้ดูดวงนั่นเอง) สร้างเป็นสมการดาวเข้ารูป พร้อมคำแปลที่เกิดจากการสนธิความหมายตามปัจจัยทางโหราศาสตร์เข้าด้วยกัน ให้นึกภาพตามอย่างง่าย ๆ ก็คือ เหมือนพจนานุกรมแปลภาษาดาว เป็นภาษาคนนั่นเอง และนอกจากนี้ ยังได้คิดค้นจานหมุน 360 องศา ที่ช่วยทำหน้าที่วัดมุมดาว และ หาศูนย์รังสี (Mid Point) กับ จุดอิทธิพล (Sensitive Point) รวมถึงการใช้เรือนชะตาจากจุดเจ้าชะตาทั้ง 5 (ซึ่งในทางปฏิบัติ สามารถตั้งเรือนชะตาได้จากดาวทุกดวง) และ พัฒนาดวงโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) ในการพยากรณ์จรช่วงอายุขัย รวมถึงคำนวณตำแหน่งดาวทิพย์ (Trans Neptunian ตัวย่อ TNP) เพื่อใช้ขยายความเพิ่มเติมในการพยากรณ์ที่จำเพาะเจาะจงมากกว่าดาวเคราะห์หลัก
เดิมทีนั้น ท่านอัลเฟรด วิตเตอร์ ไม่ได้ตั้งชื่อว่า “โหราศาสตร์ยูเรเนียน” ด้วยซ้ำไป ท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะแยกออกมาเป็นศาสตร์การพยากรณ์แขนงใหม่ เพราะถือว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโหราศาสตร์สากลดั้งเดิม แต่ปรับบางส่วนให้เหมาะสมกับกาลยุคสมัยมากขึ้น โรงเรียนสอนโหราศาสตร์ของท่านใช้ชื่อว่า “โรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก” (Hamburg School of Astrology) จนเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 วิชาโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก ได้เข้าไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา โดย ฮานส์ นิกเกอร์แมน (Hans Niggerman) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ยูเรเนียน” เพื่อความง่ายต่อการทำการตลาด (เรื่องของการสื่อสารแบรนด์นั่นแหละ) จนกลายเป็นชื่อติดหูมาจนถึงทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่าง โหราศาสตร์สากล และ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยหลัก ๆ ก็คือ

  • เรื่องของ ดาวทิพย์ทั้ง 8 ซึ่งโหราศาสตร์สากลไม่มี
  • จานหมุน 360 องศา ซึ่งปกติแผ่น Chart ดวงของโหราศาสตร์สากล ไม่จำเป็นต้องหมุนได้รอบทิศเพราะเน้นใช้เรือนชะตาลัคนาแบบ พลาซิดุส (Placidus House System) เป็นหลัก
  • ดวงชะตาโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) ในขณะที่โหราศาสตร์สากลใช้ดวง Progress
  • ปรัชญามุมสะท้อน เรือนสะท้อน และ ดาวสะท้อน (A+B-C จริง ๆ ก็คือ C สะท้อนแกน A/B)
  • สูตรพระเคราะห์สนธิ และ สูตรเรือนชะตาสนธิ (ซึ่งถ้าเข้าใจปรัชญาแล้วจะพบว่า หลักการผสมเหมือน ๆ กัน)

**ปัจจุบัน โหราศาสตร์สากลบางสำนัก เริ่มมีการใช่กลุ่มดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) จึงทำให้บางท่านจำสับสนกับ ดาวทิพย์ทั้ง 8 ของยูเรเนียน และเข้าใจว่าเป็นโหราศาสตร์ประเภทเดียวกัน

2 โค้งสุริยยาตร์ กับ คัมภีร์สุริยยาตร์ ?

คำว่า “คัมภีร์สุริยยาตร์” คนไทยมักจะคุ้นหู หรือเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะเป็นสูตรคำนวณปฏิทินดาวระบบหนึ่งที่นิยมใช้กันแพร่หลายในวิชาโหรศาสตร์ไทย แต่คำว่า โค้งสุริยาตร์ หรือ Solar Arc ใน โหราศาสตร์ยูเรเนียน จริง ๆ แล้วนั้น…

ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย !!! ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ คัมภีร์สุริยยาตร์ของโหราศาสตร์ไทยแม้แต่น้อย จริง ๆ เหตุผลของการตั้งชื่อมันก็มาจากรากศัพท์ภาษา สุริยะ+ยาตรา มันไปตรงกับคำว่า Solar+Arc(Direction) ซึ่งมีนัยะถึงค่าองศาของอาทิตย์ที่เดินหน้าไปเรื่อย ๆ ทุกปี แค่นั้นเอง !!! และ อ. พลตรีประยูร พลอารีย์ (ปรมาจารย์ยูเรเนียนชาวไทยคนแรก ที่ไปเรียนที่เยอรมัน) เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วแปลหนังสือพระเคราะห์สนธิ ให้เป็นภาษาไทย จึงต้องศัพท์นิยาม Solar Arc เป็นภาษาไทยเสียใหม่ จึงเลือกคำว่า สุริยยาตร์ เพราะท่านเป็นคนไทยที่อยู่ในแวดวงโหร คุ้นเคยกับศัพท์คำนี้อยู่แล้ว (และ โค้งสุริยยาตร์ ยังไงก็ไพเราะกว่า โค้งอาทิตย์)

หากจะว่ากันตามตรงแล้ว ดวงโค้งสุริยาตร์ จะใกล้เคียงกับดวงโปรเกรส (Progression) ของโหราศาสตร์สากลมากกว่า และหากจะให้แยกย่อยลงไปในชนิดของดวงโปรเกรส อีกล่ะก็… ดวงโค้งสุริยยาตร์ วิธีการคำนวณจะเหมือนกับดวง Secondary Progression เพียงแต่เอาค่าองศา Progression ไปบวกกับดาวทุกดวง เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกติดปาก เช่น ดาวบวกโค้ง (ดาว V1) หรือ ดาวลบโค้ง (V2) บ้างก็เรียกว่า โค้งอาทิตย์ หรือ โค้งอายุ เพราะค่าองศาของ Solar Arc จะเพิ่มตามจำนวนอายุของเจ้าชะตาเอง โดยเฉลี่ยปีละ 1 องศา

** 1 ปี = 1 องศา นั้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ย ในการคำนวณจริงจะขึ้นอยู่กับค่าการโคจรของอาทิตย์ หรือ Daily Motion ณ ห้วงเวลาเกิดของแต่ละคน

อนึ่ง ทฤษฎีดวงโค้ง หรือ ดวงโปรเกรส เกิดจากสมมติฐานที่ว่า ทำไมดาวจรดวงเดียวกัน เมื่อโคจรมาทำมุมเดิม ในดวงชะตาเดิม แต่กลับให้ผลต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ? เทียบได้กับโหราศาสตร์ไทยก็คงจะเป็นวิชาทักษาจร

3 สายนะ นิรายนะ ดาวยก ดาวย้าย ?

เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่สร้างควมสับสนงุนงง โดยเฉพาะหมอดู(มือใหม่) และ คนที่มาดูดวง ในเรื่องการนับ ราศี ก็ต้องพูดเผื่อไปถึงความเข้าใจผิดของคนทั่วไป ที่มักเข้าใจว่า ฉันเป็นคนราศีนั้น ราศีนี้ พอมาดูกับอีกศาสตร์นึงแล้วบอกว่าไม่ใช่ พาลให้อคติกันไปเปล่า ๆ

เพราะโหราศาสตร์ไทย จะใช้ปฏิทินจักรราศีนิรายนะ (Sideral) ในขณะที่ฝั่งโหราศาสตร์สากล และ ยูเรเนียน จะใช้ปฏิทินจักรราศีสายนะ (Tropical) อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า มาจากคนละแนวคิด แต่จะไม่ขออธิบายที่มาในบทความนี้ (เพราะสามารถเสิร์ชหาอ่านได้ทั่วไป) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ปฏิทินทั้งสองระบบมีค่าองศาที่เหลื่อมกันอยู่ (ค่าอายนางศ์ : Precession) ประมาณ 24 องศา

Zodiac
ภาพจาก http://www.vijayajyoti.com

เมื่อปฏิทินที่ใช้ต่างกัน องศาต่างกัน วันที่ดาวยก ดาวย้ายราศีก็ไม่ตรงกัน ตรงส่วนนี้ โหรยูเรเนียน ไม่มีปัญหาในการวางตัวเท่าไหร่ เพราะเราไม่ค่อยมีประเพณีดาวยก ดาวย้าย แบบทางโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งผมเคยถามโหราจารย์รุ่นเก่า ๆ ก็เพิ่งบอกว่าจะมียุคนี้นี่แหละ ที่ไหว้รับดาวย้ายราศี (สมัยก่อน มีแค่สวดพระเคราะห์เสวยอายุ พระเคราะห์แทรก) ทางฝั่งยูเรเนียน ปัจจุบันนิยมใช้แค่ปรากฏการณ์ อาทิตย์ ย้ายเข้าราศีทวาร ที่ใช้เป็นจุดอ่านดวงสงกรานต์ (จุดฤดูกาลทั้ง 4)

เพราะฉะนั้น เมื่อคุยกันเรื่องดาวในราศีนั้น ลัคนาราศีนี้ ควรถามเฉพาะเจาะจงไปเลยว่าใช้ปฏิทินระบบใด ใช้โหราศาสตร์แขนงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… การสนทนากับลูกค้าที่มาดูดวง หากไม่เหนื่อยที่จะต้องอธิบายนัก แนะนำว่าเลี่ยงศัพท์โหร จำพวก ลัคนา ราศีไปเลยจะดีกว่า

เพราะมันเหมือนทำงานร้านกาแฟ แล้วเจอลูกค้าสั่งเอสเพรซโซ่ใส่นม… ก็ชงให้เค้าไป

**การอ่านดวง Ingress หรือดาวยกเข้าราศี ในทางทฤษฎีสามารถทำได้กับดาวทุกดวง และจะให้อิทธิพลหนักสุดในราศีทวาร (0 องศา เมษ, กรกฎ, ตุล, มกร) และจุดจุลทวาร (45 องศา พฤษภ, สิงห์, พิจิก, กุมภ์) ตามลำดับ แต่ในทางปฏิบัติอย่างที่ได้กล่าวไปคือ นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนส่วนใหญ่ก็นิยมอ่าน อาทิตย์ Ingress เข้าราศีทวารมากกว่า หรือ “ดวงสงกรานต์” นั่นเอง เพราะปัจจัยอาทิตย์ คงที่และสม่ำเสมอกว่า ยิ่งดาวเคราะห์วงนอก (Outer Planets) ใช้เวลานานเกินไปกว่าจะโคจรครบ 1 รอบจักรราศี

4 ธาตุดาว ?

เอาจริง ๆ ต้องพูดว่า นี่ก็เป็นอีกความเข้าใจผิด (รองลงมาจากเรื่องปฏิทิน) ของโหราศาสตร์ไทย เมื่อต้องสื่อสารกับ โหราศาสตร์สากล หรือ ยูเรเนียนกันเลยทีเดียว ในเรื่องของธาตุดาว

ed4d5c3b68d095f80769a5a8061ef411

โดยปกติแล้ว ธาตุของดาวเคราะห์ ระหว่างโหราศาสตร์สากล และ ยูเรเนียน นั้นเหมือนกันอยู่แล้ว ซึ่งมาจากปรัชญาของธาตุราศี คุณะ และ ฤดูกาล ซึ่งเกิดจากการผสมกันของ 4 คุณสมบัติหลัก คือ ร้อน (Hot), เย็น (Cold), เปียก (Wet), แห้ง (Dry)

ในขณะที่ธาตุดาวของโหราศาสตร์ไทย มาจากวิชาทักษา ยกตัวอย่างเช่น จันทร์ ทางโหราศาสตร์ไทยจัดเป็นธาตุดิน เมื่อมองในตารางทักษา(คู่ธาตุ) ก็จะเห็นว่าอยู่ตรงข้ามกับ พฤหัส ซึ่งก็จัดว่าเป็นธาตุดิน อาทิตย์ธาตุไฟ ก็อยู่ตรงข้ามกับ เสาร์ ธาตุไฟเช่นกัน

แต่พอมาทางฝั่งโหราศาสตร์สากล จันทร์ จัดเป็นธาตุน้ำ เพราะให้คุณสมบัติของธาตุน้ำที่ชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะในเรื่องของอารมณ์ ความอ่อนไหว น้ำขึ้น น้ำลง ฯลฯ และเป็นเกษตรของราศีกรกฎ ธาตุน้ำ

ดาวเสาร์ ธาตุดิน ให้คุณสมบัติที่ แข็ง มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เชื่องช้า แต่คงที่ ตามคุณสมบัติของราศีมกร ธาตุดิน

What-Kind-of-Element-Are-You-Fire-Water-Earth-or-Air-1-1

จริง ๆแล้ว ปรัชญาการจัดลำดับธาตุดาว ทางฝั่งโหราศาสตร์สากล หรือ ยูเรเนียน (เพราะรากฐานเดียวกัน) จะสอดคล้องกับการจัดตำแหน่งเกษตรของดาวเคราะห์ที่มีคุณสมบัติของราศีใกล้เคียงกัน เช่น อังคาร ธาตุไฟ มีคุณสมบัติของความร้อน กระตือรือร้น การต่อสู้ อาการบวมอักเสบ บาดแผล ซึ่งที่กล่าวมา ก็เป็นคุณสมบัติของธาตุไฟ ตามราศีเมษอยู่แล้ว แต่ อังคาร ก็ครองเกษตรที่ราศีพิจิกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นธาตุน้ำ แต่เป็น สถิระราศี (ธาตุน้ำระดับกลาง) ความร้อนแรงทางพฤติกรรมของพิจิก จึงอาจจะสู้เมษไม่ได้ พิจิก จึงแสดงออกไปในทาง ความมั่นใจ และ สม่ำเสมอ อุทิศตน เสียสละ มากกว่าเมื่อเทียบกับ เมษ ที่โผงผาง ระเบิดออกมาในตูมเดียว

ในทางปฏิบัติเพื่อการพยากรณ์ ยูเรเนียน ไม่ได้อาศัยธาตุของดาว ในการพยากรณ์ จะเน้นก็ตรงธาตุของราศีมากกว่า ธาตุดาวเ ป็นเรื่องที่ใช้ทำความเข้าใจปรัชญา และ ความหมายในการแปลดาวเท่านั้น ว่าควรจะมีทิศทางอย่างไร

เพราะฉะนั้น ถ้าโหรทั้งสองฝั่งคุยกัน และไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน จะทำให้สื่อสารกันผิดอยู่บ่อย ๆ (เพราะ ธาตุดาวคนละแบบ) ทั้งที่จริง ๆ ก็ไม่มีฝั่งไหนผิด เพราะตำราสอนมาแบบนั้น

5 จะเรียนยูเรเนียน ต้องเก่งคณิตศาสตร์ ?

การที่วิชายูเรเนียน มีเทคนิกเฉพาะคือ สมการดาวจากคัมภีร์พระเคราะห์สนธิ ทำให้บางครั้งต้องมีการขึ้นรูปเป็นสมการต่าง ๆ นานา เช่น ยูเรนัส+อาพอลลอน-อาทิตย์ (อาจดูไม่คุ้นตาแน่ ๆ สำหรับโหรไทย) หรือบางทีก็ขี้เกียจพิมพ์ ขี้เกียจเขียน จึงใช้ตัวย่อเช่น UR+AP-SO และด้วยศัพท์แสงทางดาราศาสตร์บางคำ เช่น จุดเมอริเดียน หรือ ดาวทิพย์ต่าง ๆ นานา (ที่เป็นชื่อภาษาอังกฤษซะหมด) จนผู้ฟังเข้าใจไปเองว่าเป็นศัพท์ชั้นสูง เลยทำให้ภาพลักษณ์ของวิชายูเรเนียน ดูเข้าถึงได้ยาก พอ ๆ กับหนังอาร์ตเมืองคานส์

file-20180226-140213-yox11e.jpg

ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกเลยว่า ยูเรเนียน ไม่ได้ใช้อะไรมากมายนอกจาก บวก ลบ คูณ หาร ธรรมดา ๆ และ ในความเป็นจริงก็ไม่เคยมีใครห้ามใช้เครื่องคิดเลข จริงมั้ย ? คุณไม่จำเป็นต้องได้เกรด 4 วิชาคณิตศาสตร์อะไรขนาดนั้น ถ้าไม่ได้คิดจะเขียนโปรแกรม หรือ คำนวณปฏิทินใช้เอง

plus-minus-multiply-divide-mathematical-symbols-vector-10085753

ที่ยากหน่อยสำหรับยูเรนเนียน ก็เพียงแค่ปัจจัยที่ใช้มันอาจจะเยอะไปหน่อยเมื่อเทียบกับวิชาโหราศาสตร์สายอื่น ๆ เพียงแค่ จุดเจ้าชะตา 5 จุด พร้อมดาวเคราะห์ 8 ดวง แถมด้วยดาวทิพยอีก 8 ดวง รวม ๆ แล้วก็ 21 ปัจจัยในแต่ละชั้นดวง ซึ่งในทางปฏิบัติ วิชายูเรเนียนจะใช้ดวงถึง 3 ชั้น ที่แตกต่างกันในการพยากรณ์จร นั่นก็คือ

  1. ดวงกำเนิด (Radix ใช้ตัวย่อคือ r)
  2. ดวงโค้งสุริยยาตร์ (V1,V2 ใช้ตัวย่อคือ v)
  3. ดวงจร (transit ใช้ตัวย่อคือ t)
ดวง 3 ชั้น
ภาพตัวอย่าง ปัจจัยจากดวงทั้ง 3 ชั้น (Radix, V1 และ Transit)

ยกตัวอย่างเช่น เขียนเป็นสมการ ASt/NOt = JUt = MCv = URr+APr-SOr

(คนไม่เข้าใจจึงนึกว่าเขียนสูตรฟิสิกส์ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่นะ กิ๊ฟ !!!) แต่เมื่อเราใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ถอดคำแปลทีละปัจจัยก็จะได้ว่า
ลัคนาจร/ราหูจร = พฤหัสจร = เมอริเดียนโค้ง = ยูเรนัสกำเนิด+อาพอลลอนกำเนิด-อาทิตย์กำเนิด

การติดต่อกับผู้อื่น = โชค ความสำเร็จ = สถานภาพ หรือ ตัวตน = นักโหราศาสตร์

พอเราแปลเป็นภาษาคนก็จะได้ประมาณว่า โชคหรือความสำเร็จจากการติดต่อกับผู้อื่นด้วยสถานภาพของการเป็นนักโหราศาสตร์ (ในกรณีที่เจ้าชะตาเป็นนักโหราศาสตร์นะ) หรือจะแปลกลับกันให้เหมาะสมกับสภาพการณ์เช่น เจ้าชะตาประสบความความสำเร็จหรือมีโชคหากต้องมีการติดต่อกับนักโหราศาสตร์

จะเห็นว่า กรรมวิธีการแปลนั้นค่อนข้างเรียบง่าย และ เป็นระบบระเบียบมากกว่าโหราศาสตร์แขนงอื่น ๆ และ มีข้อยกเว้นน้อยกว่าทางโหราศาสตร์ไทย (ปัจจัยอะไรที่สัมพันธ์กัน จับผสมความหมายได้เลย) สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เวลามองดวงทั้ง 3 ชั้น ขอให้คิดซะว่าเป็น Layer ใน Photoshop จะเข้าใจง่ายกว่า

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่า จริง ๆ แล้ว การจะเรียนวิชายูเรเนียนนั้น ไม่ต้องเก่งคณิตศาสตร์มากมาย แต่เป็นความเก่งในการใช้เหตุผลหรือตรรกศาสตร์เสียมากกว่า การพยากรณ์ในแบบของยูเรเนียน ห้ามใช้อารมณ์ความรู้สึก แต่ต้องตั้งสมมติฐานที่ชัดเจน และหาข้อสรุปที่สมเหตุสมผลจากสมการเหล่านั้น

**ถ้าต้องตรวจสมพงษ์ชะตา Synastry ด้วยเงื่อนไขช่วงเวลาจร เช่น ฤกษ์แต่งงาน อาจต้องใช้ถึง 5 ชั้น คือ 1 Transit, 2 โค้ง และ 2 Radix

6 มุมดี-มุมร้าย ?

ในเชิงปฏิบัติ ยูเรเนียนไม่มีคำว่า “มุมดี” หรือ “มุมร้าย” มีแค่ว่า “มุมแรง” กับ “มุมอ่อน” เพราะในเชิงปรัชญา ผลดี ผลร้าย อยู่ในความหมายดาวทุกดวงอยู่แล้ว มุม มีหน้าที่บ่งบอกว่า “มันสัมพันธ์กัน” ซึ่งจะแทนด้วยเครื่องหมาย = ในสมการ

step6img6-1024x607.jpg
ภาพจาก iordanus.com ตัวอย่าง “มุม” ที่ใช้ในโหราศาสตร์ไทย และ สากล พร้อมปรัชญาความหมาย

ส่วนคำว่า มุมแรง มุมอ่อน จะเป็นตัวแยกแยะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีโอกาสเป็นไปได้มาก หรือ น้อย ตามลำดับความแรงของมุม เช่น 0 องศา > 180 องศา (ฮาร์โมนิคที่ 2) > 90 องศา (ฮาร์โมนิคที่ 4) > 45 องศา และ 135 องศา (ฮาร์โมนิคที่ 8) ชุดมุมนี้คือมุมแรง มันคือมุมตามจำนวนเท่าของทฤษฎีจตุรางคดล (Quadrant) ที่แบ่งโลกออกเป็น 4 ฤดูกาล และถือเป็นสุดยอด “รากเหง้า” แห่งวิชาโหราศาสตร์ทั้งปวงบนโลก

harmonic

ส่วนมุมที่อ่อนกว่านี้ เช่น ตระกูลมุม 22.5 องศา, 67.5 องศา 112.5 องศา และ 157.5 องศา ถือเป็นเรื่องราวเล็ก ปลีกย่อยในชีวิตที่อาจไม่สำคัญมากนัก (ไม่ตราตรึงใจ) เท่ากับมุมแรง คือใช้ได้ แต่พยากรณ์ออกไปแล้วบางทีไม่โดนใจผู้ฟัง

มุมอื่น ๆ เช่น มุม 30 องศา, 60 องศา และ 120 องศา ที่โหราศาสตร์สากลมองว่าเป็นมุมให้คุณ รวมไปถึงตระกูลมุม Quintiles เช่น 32 องศา, 72 องศา และ 144 องศา แม้แต่มุม 150 องศา ทางยูเรเนียน ไมได้ปฏิเสธว่ามันใช้ไม่ได้ แต่ให้น้ำพอ ๆ กับ มุมอ่อน และในทางปฏิบัติ เมื่อเราสร้างเงื่อนไขเป็น “ศูนย์รังสี” หรือ “จุดอิทธิพล” แล้ว “ไม่ควรใช้มุมอ่อน” ก็เลยไม่นิยมใช้กัน แต่ก็พอใช้ได้ในระดับปัจจัยเดี่ยว (นี่ก็เป็นอีกอย่างที่ ท่านวิตเตอร์ พยายามตัดออก เพราะมุมในโหราศาสตร์สากล มีเยอะเกินไป)

เพราะฉะนั้นถ้าตรวจสมการแล้วเจอ “ปัจจัยเดี่ยว” สัมพันธ์ถึง “จุดเจ้าชะตา” ใน “มุมแรง” ละก็… บอกเลยว่ามาแน่ !!!

7 สายพระเคราะห์สนธิ และ สายเรือนชะตา ?

หลายคนเข้าใจผิดว่าวิชายูเรเนียนในไทยมีอยู่ 2 สาย คือ สายพระเคราะห์สนธิ กับ สายเรือนชะตา

จากการศึกษาของผู้เขียน พบว่า จริง ๆ แล้วไม่เชิงว่าแบ่งแยกเป็น 2 สายหรอก สุดท้ายทั้ง 2 ระบบ มันก็คือแนวทางของ ท่านวิตเตอร์ ทั้งสิ้น (โรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก ในรุ่นดั้งเดิม) อ. ประยูร ได้ให้เหตุผลว่า ทั้ง 2 ระบบ เป็นกรรมวิธีในการหาคำตอบซึ่งเป็นเอกเทศน์แก่กัน แต่สุดท้ายจะนำมารวมกันเพื่อหาข้อสรุปได้อย่างแม่นยำ

เพียงแต่ว่าในยุคสมัยถัดมา มีการประดิษฐ์จานคำนวน 90 องศา เพื่อใช้ในการหา ศูนย์รังสี และ จุดอิทธิพล ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียคือ ขณะที่ใช้จาน 90 องศา จะทำให้ไม่สามารถมองเห็น ราศี และ เรือนชะตาได้ บวกกับว่าเทคนิกพระเคราะห์สนธิ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในวงการโหราศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิชายูเรเนียน (ระบบเรือนชะตาของยูเรเนียน ยังมีหลายส่วนใกล้เคียงกับโหราศาสตร์สากลอยู่) ทำให้คนที่ศึกษายูเรเนียนใหม่ ๆ มุ่งความสนใจไปที่ตัวพระเคราะห์สนธิกันหมด ความนิยมในตัวระบบเรือนชะตา จึงค่อย ๆ เลือนหายไป

90Dial70-6jqy

สำหรับประเทศไทยนั้น อ. พลตรีประยูร พลอารีย์ ได้เขียนหนังสือสำคัญไว้ 2 เล่มคือ “คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” และ “คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” แต่เพราะเล่มคัมภีร์สูตรเรือนชะตา อ.ประยูร ท่านเขียนไว้ไม่จบ (อ. ประยูร เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2536) เนื้อหาบางส่วนจึงไม่สมบูรณ์นัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เฉพาะตัวสูตรผสมความหมายของเรือนชะตา อ.ประยูร ได้เขียนไว้ในเล่ม “คัมภีร์พระเคราะห์สนธิ” อยู่แล้ว จึงทำให้ สูตรเรือนชะตา ยังไม่ถึงกับหายลับไปจากวงการทีเดียว (เพียงแต่หาอาจารย์สอนเรื่องนี้ได้ยาก)

36514991_2036293853050169_495693102028161024_n

8 เรือนชะตาเท่า หรือ เรือนชะตาไม่เท่า ?

อัลเฟรด วิตเตอร์ ได้ให้เหตุผลของระบบเรือนชะตาเท่า (Equal House System) ในโหราศาสตร์ยูเรเนียนว่า ง่ามมุมของจักรราศี (มุมฮาร์โมนิคที่ 12) มีคุณสมบัติโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เรือนชะตาที่ใช้จึงไม่จำเป็นต้องไปแบ่งให้มันไม่เท่ากัน เพราะ “ปรัชญาของจักรราศี” ก็เทียบได้กับ “ปรัชญาของเรือนชะตา” อยู่แล้วนั่นเอง เช่น “เรือนที่ 1” มีคุณสมบัติบางส่วนเทียบได้กับ “ราศีเมษ” หรือ “เรือนที่ 4” มีคุณสมบัติบางส่วนเทียบได้กับ “ราศีกรกฎ” เป็นต้น

ซึ่งในยุคสมัยนั้น (หรือแม้กระทั่งตอนนี้) วิชาโหราศาสตร์สากลนิยมใช้เรือนชะตาแบบ “พลาซิดุส” (Placidus House System) แต่ปัญหาบางอย่างของเรือนชะตาพลาซิดุสก็คือ เมื่อนำระบบเรือนชะตานี้ไปใช้ในประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมาก ๆ จะส่งผลให้บางเรือนชะตานั้น มีค่าองศาที่กว้าง หรือแคบมากเกินไป

astro_w2gw_winter_solstice.21936.19874
รูปตัวอย่างเรือนชะตา Placidus จะเห็นว่า เรือนที่ 1 กับ 7 นั้นแคบมาก แต่ที่เรือนที่ 5 และ 11 ก็กว้างมากเป็นพิเศษ

และผลจากการใช้เรือนชะตาแบบ พลาซิดุส นั่นก็คือ ในหนึ่งเรือนชะตา สามารถคาบเกี่ยวกันได้ถึงสองราศี ทำให้นักโหราศาสตร์ชาวไทยมีความสับสนอยู่บ้าง เพราะโหราศาสตร์ไทยในบ้านเราจะใช้เรือนชะตาซ้อนราศี (Whole-Sign House System) โดยการนับ “ราศี” ที่ ลัคนาสถิตย์อยู่เป็น “เรือนชะตาที่ 1”

whole sign

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า เรือนชะตาเท่า (Equal House System) ของยูเรเนียนจะเหมือนกับของโหราศาสตร์ไทยแต่อย่างใด (แม้จะเรือนละ 30 องศาเท่ากัน) เรือนชะตาเท่าของยูเรเนียน จะเริ่มนับจากจุดที่ใช้ตั้งต้นของเรือนชะตา (เช่น จุดเจ้าชะตา หรือ ดาวเคราะห์) และ นับไป 30 องศา เท่า ๆ กันในการแบ่งเรือน ผลก็คือ ยังมีความคาบเกี่ยวกันถึง 2 ราศี ในเรือนชะตาเดียวกัน คล้ายกับแบบเรือนชะตาพลาซิดุส แต่ความพิเศษของเรือนชะตาเท่าแบบยูเรเนียน นั่นก็คือ ทำให้ลัคนาไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนที่ 1 หรือ เมอริเดียน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนที่ 10 เสมอไป (ขึ้นอยู่กับเรือนชะตาที่เลือกใช้)

equal house

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ ประเทศไทย อยู่บนเส้นละติจูดที่ 13 องศาเหนือกว่า ๆ ทำให้ความห่างระหว่างเมอริเดียน และ ลัคนา อยู่ราว ๆ 90 องศา (บวกลบนิดหน่อย) เวลาที่ตั้งเรือนชะตาเมอริเดียน จุดลัคนา จึงมีโอกาศอยู่ในเรือนที่ 1 หรือ เรือนที่ 12 ซึ่งโดยมาก คนที่จุดลัคนาอยู่ในเรือนที่ 12 มักอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างต้องการความเป็นส่วนตัว หรือมีลักษณะเก็บตัว ที่บ้านมักไม่ค่อยมีคนไปมาหาสู่ เมื่อเทียบกับคนที่มีจุดลัคนา อยู่เรือนที่ 1 เป็นต้น (กรรมวิธีการอ่านแบบนี้ ไม่สามารถทำได้โดยใช้เรือนชะตาพลาซิดุส)

ข้อสงสัยอีกบางประการของผู้เริ่มต้นศึกษายูเรเนียนใหม่ ๆ ก็คือ เรือนชะตาเมอริเดียนในบางโปรแกรม ไม่ใช่เรือนเท่า !? ข้อนี้ผู้เขียนคาดว่าเป็นอิทธิพลแนวคิดของเรือนชะตาเมอริเดียนแบบดั้งเดิมของ เดวิด โคป (David Cope) นักโหราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ในช่วงศตวรรษที่ 19

ขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก ได้ให้เหตุผลว่า เรือนชะตาเมอริเดียนนี้เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง เพราะฉะนั้น โครงสร้างของเรือนชะตา จึงต้องเป็นเรือนเท่าบนเส้นศูนย์สูตรฟ้า คือการหา ไรต์แอสเซนชัน บวกไปอีก 2 ชั่วโมง ต่อ 1 เรือนชะตา (อยู่ในขั้นตอนการหาพิกัดเมอริเดียน RAMC : Right Ascension of the Medium Coeli) ก่อนจะพิกัดองศาลงมาบนจานคำนวณ (ด้วยตารางเรือนชะตา Table of Houses) ส่วนเรือนชะตาอื่น ๆ ให้ใช้เป็นเรือนแบบเท่าปกติ

แต่ผลต่างของความไม่เท่ากันเรื่ององศานี้ อยู่เพียงราว ๆ 3 องศาเท่านั้น ซึ่งหากต้องใช้เรือนชะตาเมอริเดียนแบบที่ว่านี้ จะทำให้การหมุนจาน 360 องศา ลำบากมากขึ้น ในทางปฏิบัติจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันนัก (สำหรับโหรยูเรเนียนที่ชอบหมุนจาน) และ บางสำนักที่เน้นสอนพระเคราะห์สนธิ ก็ไม่ได้มีปัญหากับความไม่เท่ากันของเรือนชะตาเมอริเดียน (เพราะไม่ได้ใช้)

**ในส่วนของเรือนชะตาเมอริเดียนแบบไม่เท่า ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า (ส่วนตัวนะ ส่วนตัวมาก) ดูย้อนแย้งกับปรัชญาพื้นฐานของ อัลเฟรด วิตเตอร์ ที่พยายามทำให้ ระบบระเบียบ กรรมวิธีทุกอย่างดูเรียบง่ายภายใต้ปรัชญามุมฮาร์โมนิค และถ้าในทางปฏิบัติเมื่อต้องทำเช่นนั้นจริง ทำไมวิตเตอร์จึงสร้างจาน 360 องศาขึ้นมา ? ทำไมไม่แยกระบบจานเรือนชะตาเมอริเดียนออกมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำได้ไม่ยาก ? ผู้เขียนจึงนิยมใช้เรือนชะตาเมอริเดียนแบบเท่า ตามจานหมุน 360 องศามากกว่า ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้ผู้อ่านช่วยกันศึกษาค้นคว้า วิจัยกันต่อไป

9 พระเคราะห์สนธิ แม่นกว่า เรือนชะตา ?

มีโหรบางท่านบอกว่า “ระบบพระเคราะห์สนธิ” แม่นยำกว่า “ระบบเรือนชะตา” จริง ๆ ควรจะบอกว่า ระบบพระเคราะห์สนธิ ให้ความหมายที่จำเพราะเจาะจงมากกว่าระบบเรือนชะตาต่างหาก ถ้าเปรียบทั้ง 2 ระบบนี้เป็นมีด ก็คงจะเป็นมีดที่มีไซส์ขนาดต่างกัน ใช้งานต่างกันตามแต่ละโอกาส

คุณไม่ควรเอามีดผ่าตัดไปผ่าฟักทองฉันใด ก็ไม่ควรเอามีดปังตอไปปลอกเปลือกผลไม้ฉันนั้น

ในการพยากรณ์ดวงชะตา ควรเริ่มจากมองภาพกว้าง ๆ หาโครงสร้างที่น่าสนใจจากระบบเรือนชะตาก่อน เพื่อตั้งสมมติฐาน จะได้เป็นการตัดสูตรพระเคราะห์สนธิที่ไม่จำเป็นออกไป (ลดภาระในการเจอกองทัพสมการ) เช่น การตั้งเรือนชะตาอาทิตย์ นั่นย่อมหมายถึง บุคคลเพศชายที่สำคัญต่อตัวเจ้าชะตาด้วย ยกตัวอย่างกรณีนี้ว่าดวงชะตานี้เป็นผู้หญิง เรือนชะตาอาทิตย์ ย่อมครอบคลุมไปถึง พ่อ สามี พี่ชายน้องชาย ปู่ ตา ลุง ฯลฯ แต่หลังจากที่อ่านปัจจัยคร่าว ๆ ในเรือนชะตาอาทิตย์แล้ว จึงค่อยจำเพาะเจาะจงว่าผู้ชายคนที่ว่านี้ จะเป็นใครได้บ้าง เช่น สามี(อาทิตย์/อังคาร) หรือ บิดา (โครโนส+คิวปิโด-อาทิตย์) เมื่อเจอคำตอบที่น่าสนใจจากพระเคราะห์สนธิ และมีทิศทางสอดคล้องกับระบบเรือนชะตา จึงสรุปข้อยุติเป็นคำพยากรณ์

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าใช้ระบบไหนดีกว่ากัน แม่นกว่ากัน ? มันก็ควรใช้ทั้งคู่ แต่เลือกใช้เครื่องมือให้ถูกกับประเภทงาน และจังหวะเวลาจะดีกว่านะ แน่นอนว่า ระบบเรือนชะตา ก็มีจุดเด่นซึ่งพระเคราะห์สนธิ ทำไม่ได้เหมือนกัน เช่น การสืบหาข้อมูลโคตรเหง้าสาแหรกทั้งตระกูล โดยอาศัยดวงกำเนิดดวงเดียว เป็นต้น เช่น พี่ของแฟน พ่อของแม่ น้องของยาย ฯลฯ และอีกสารพัด (ในความเป็นจริง แค่จะหาคนสอนระบบเรือนชะตา ณ ปัจจุบันนี้ ยังหาไม่ค่อยจะได้เลย

10 เรือนชะตาหลัก และ เรือนชะตาอนุเคราะห์

ที่จริงความหมายในระบบเรือนชะตาของยูเรเนียน ก็มาจากโหราศาสตร์สากล ซึ่งสอดคล้องกับโหราศาสตร์ทั่วโลก รวมไปถึงโหราศาสตร์ไทยด้วย (มีต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่หลัก ๆ เหมือนกัน) ซึ่งโดยปกติแล้วโหราศาสตร์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ “ลัคนา” มากที่สุด และใช้เป็นจุดตั้งต้นในการแบ่งเรือนชะตา แต่สำหรับยูเรเนียนแล้ว เรือนชะตาที่สำคัญที่สุดคือ “เรือนชะตาเมอริเดียน” เมื่อตั้งเรือนะตาเมอริเดียนแล้วยังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ จึงไล่ไปยังเรือนชะตาอื่นที่สำคัญรองลงมา (เรือนชะตาอนุเคราะห์) คือ เรือนชะตาลัคนา, เรือนชะตาอาทิตย์ (หากเจ้าชะตาเป็นผู้ชาย) , เรือนชะตาจันทร์ (หากเจ้าชะตาเป็นผู้หญิง) และ เรือนชะตาราหู (ซึ่งเน้นไปที่เรื่องความสัมพันธ์ซะมากกว่า) สำหรับประเทศไทย ผลต่างค่าองศาของเรือนชะตาเมอริเดียน และ เรือนชะตาลัคนา ไม่ได้ต่างกันมากนัก (เกือบจะ 90 องศากันอยู่แล่ว) จึงอนุโลมให้อ่านแค่เรือนชะตาเมอริเดียนอย่างเดียวก็พอได้ เพื่อความรวดเร็ว

ec5954413d56b58d211f169a95726b91

แม้ว่าจะมีเรือนชะตาให้เลือกใช้ถึง 5 รูปแบบ(ในเบื้องต้น) แต่เชื่อเถอะว่า สำหรับบางคำถาม ก็ยังไม่เจอคำตอบจากเรือนทั้ง 5 ก็มี เมื่อถึงจุดนี้ สูตรเรือนชะตาจึงเริ่มเข้ามามีบทบาท เช่น คำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงิน หมุนหาเรือนที่ 2 ยังไงก็ไม่เจอดาวสักที เราอาจจะตั้งเรือนชะตาดาวศุกร์ แล้วไปเน้นอ่านเรือนที่ 2 กับ 10 เลยก็ได้ ซึ่งจะเน้นถึง ลีลาการได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือ ภาระในการหารายได้ของชีวิต

ถ้าคำถามคือ จะประสบความสำเร็จในการหารายได้อย่างไร ? อาจจะเลือกตั้งเรือนชะตาพฤหัส และ ดูในเรือนที่ 2 (หลักการผสมสูตรเรือนชะตา จะคล้าย ๆ การผสมดาวของพระเคราะห์สนธิ)

หากจะว่าไปแล้ว ปัญหาของสูตรพระเคราะห์สนธิคือ “กองทัพสมการ” ปัญหาของสูตรเรือนชะตาก็คงจะเป็น “คฤหาสน์หลังโต” 21 ปัจจัย (ไม่นับเมษ) x 12 เรือน เท่ากับบ้านที่มี 252 ห้อง !!! ที่เราไม่รู้ว่าจะเริ่มค้นหาคำตอบจากห้องไหนก่อนดี ? เพราะฉะนั้นควรจะตั้งเงื่อนไขที่ต้องการหาคำตอบทุกครั้ง ก่อนจะใช้สูตรเรือนชะตา

ถ้า 1 คำถาม สามารถหาได้จากหลายห้อง (เรือน) ก็แนะนำว่าอ่านมันทุกห้องที่เกี่ยวข้อง (เรือนไหนไม่เกี่ยวก็ไม่ต้องยุ่ง) และ นำคำตอบที่ได้จากแต่ละห้อง มาเขียนเป็นประโยค ไล่เขียนไปเรื่อย ๆ แล้วค่อย ๆ อ่านสังเคราะห์รวมกันก็จะเจอคำตอบ (เหมือนเกมต่อจิ๊กซอว์) และตรวจการบ้านด้วยพระเคราะห์สนธิอีกรอบ ก็จะถือว่าแม่นยำเลยทีเดียว

ข้อเสียของนักโหราศาสตร์มือใหม่คือ “ยาวไป ไม่อ่าน” ใจร้อน ต้องการคำตอบเร็ว ๆ ต้องการสูตรสำเร็จ จึงละทิ้งเรื่องของเรือนชะตาที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง นั่นจึงทำให้พวกเขาตกเป็นทาสของสูตรพระเคราะห์สนธิ ซึ่งคิดว่ามันง่าย ตายตัวและตรงประเด็นที่สุด เมื่อพวกเขาเข้าสู่สนามรบครั้งแรกพร้อมสูตรพระเคราะห์สนธิ (ประหนึ่งว่าเป็นตำราพิชัยสงครามศักดิ์สิทธิ์ ซุนวู) แน่นอนว่าพวกเขาต้องรับมือกับกองทัพสมการ นับพันจุด !!! แล้วก็ล้มหายตายจากไปในที่สุดสำหรับแวดวงยูเรเนียน

**ตัวผู้เขียนไม่ได้ศึกษาโหราศาสตร์ไทยสาย สิบลัคนา แต่คาดว่า หลักการใช้เรือนชะตาดาวเคราะห์ น่าจะมาจากหลักแนวคิดคล้ายกัน

หลังจากทำความเข้าใจกับ 10 ข้อที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะแก้ไขความเข้าใจบางอย่างที่ผิดไปจากตัวบทวิชาของยูเรเนียนได้พอสมควร หลายท่านอาจจะกลับไปรื้อหนังสือ คัมภีร์พระเคราะห์สนธิ กลับมาอ่านใหม่อีกรอบซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะพบว่า ส่วนใหญ่เปิดไปอ่านแต่หน้าหลัง ๆ ที่เป็นสูตรดาว หน้าแรก ๆ ไม่ค่อยได้อ่านกัน จึงทำให้มองข้ามเรื่องเรือนชะตาไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเมื่อลองใช้เรือนชะตาแล้วจะพบว่า “สนุกสนาน” และเป็นประสบการณ์ต่อยอดไปศึกษาในเรื่องของวิชาโหราศาสตร์กาลชะตา (Horary) ได้เป็นอย่างดี